วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

พุทธศาสนาหลังยุคพุทธกาล

พุทธศาสนาหลังยุคพุทธกาล
พระพุทธศาสนาในพุทธศตวรรษที่ ๑ และ พระพุทธศาสนาในพุทธศตวรรษที่ ๒
แนวคิดการจัดหมวดหมู่พระธรรมวินัยสมัยพุทธกาล

การทำสังคายนา หมายถึง การสอบสวนทบทวนถ้อยคำพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้นั้น ที่ยอมรับกันว่าถูกต้อง พระสาวกในครั้งนั้น ต้องอาศัยความจำเป็นหลัก
แนวคิดเรื่องสังคายนา ได้เคยมีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ดังที่พระจุนทะเถระได้ปรารภการตายของมหาวีระซึ่งเป็นศาสดาของศาสนาเชน ทำให้ลูกศิษย์แตกแยกกันและเหตุการณ์ที่พระสารีบุตรเป็นผู้ริเริ่มจัดหมวดหมู่แนวคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็น ๑๐ หมวด ในสังคีถิสูตร

การกล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัยของพระสุภัททะ
พระมหากัสสปะเถระ และบริวาร ๕๐๐ รูป พระภิกษุสงฆ์เกิดความสลดรันทดใจ มีรูปหนึ่งชื่อ สุภัททะ (บวชเมื่อแก่ คนละรูปกับสุภัททที่ขอบวชก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน) ที่กล่าวจ้วงจาบขาดความเคารพต่อพระธรรมวินัย นอกจากพระสุภัททะแล้วยังมีอลัชชีภิกษุที่มีทิฏฐิ ดังเช่นนี้อยู่

การสังคายนาครั้งที่ ๑
สาเหตุที่ทำให้เกิดการสังคายนาครั้งที่ ๑ พระมหากัสสปะเถระปรารภเหตุ ๓ ประการ ในการทำสังคายนา
๑. พระสุภัททะกล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย
๒. พระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า พระธรรมวินัยจักเป็นศาสดาแทนพระองค์เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานไปแล้ว
๓. พระมหากัสสปะเถระระลึกถึงคุณของพระศาสดาที่มีต่อท่าน

พระปุราณะไม่เห็นด้วยกับการสังคายนา
ภายหลังการประชุมสังคายนาสิ้นสุดลง มีภิกษุอีกกลุ่มคือกลุ่มพระปุราณะมีความไม่เห็นด้วย เกี่ยวกับสิกขาบทบางประการ เรื่องวัตถุ ๘ ประการ ซึ่งพระวินัยห้ามมิให้ทำ และปรับอาบัติปาจิตตีย์บ้าง ทุกกฎบ้าง ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตเฉพาะคราวเกิดทุพภิกขภัยเท่านั้น แต่พระปุราณะก็ยืนยันว่าจะถือปฏิบัติต่อไปเพราะได้ยินมาเฉพาะพระพักตร์เช่นกัน

ผลที่เกิดขึ้นจากการทำสังคายนาครั้งที่ ๑
๑. ได้ร้อยกรองพระธรรมวินัยเข้าเป็นหมวดหมู่ เป็นระเบียบเรียบร้อย
๒. การปฏิบัติของพระอานนท์และการลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ เป็นตัวอย่างที่ดีชี้ถึงหลักประชาธิปไตยและธรรมาธิปไตยอย่างชัดเจน
๓. ทำให้คำสอนของพระพุทธองค์ดำรงมั่นและตกทอดมาถึงปัจจุบัน
๔. แสดงถึงความสามัคคีของพระภิกษุสงฆ์ ที่ได้พร้อมเพียงกัน จนถือเอาเป็นตัวอย่างในการทำสังคายนาในสมัยต่อ ๆ มา

สาเหตุของการสังคายนาครั้งที่ ๒
ฝ่ายเถรวาท กล่าวถึงสาเหตุของการสังคายนาว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๑๐๐ ปี ความวุ่นวายเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ในชมพูทวีปก็เกิดความรุนแรงมากขึ้น ภิกษุจำพรรษาในเมืองไพสาลีเกิดการแตกออกเป็น ๒ ฝ่าย โดยมีความเห็นขัดแย้งกันเรื่องวัตถุ ๑๐ ประการ

ผลของการสังคายนาครั้งที่ ๒
การสังคายนาครั้งที่ ๒ ก่อให้เกิดผลตามมาหลายประการ ในมุมของเถรวาทถือว่าสามารถชำระทิฎฐิที่วิปริตจากพระธรรมวินัยให้ถูกต้องได้ แต่มีคณะสงฆ์ชาวเมืองวัชชี ซึ่งมีจำนวนมากกว่าได้ทำสังคายนาซ้อนขึ้นอีก จากเหตุการณ์นี้ทำให้มองเห็นได้ว่าพระพุทธศาสนาเริ่มแยกออกเป็น ๒ ฝ่ายอย่างชัดเจน คือ ฝ่ายเถรวาทหรือสถวีระ อันเป็นนิกายเดิม กับ ฝ่ายมหาสังฆิกวาท คือกลุ่มที่แตกออกไป

การแยกนิกายในพระพุทธศาสนา
จากคัมภีร์ทีปวังสะ ได้อธิบายเหตุการณ์แยกนิกายของสังฆมณฑลยุคพุทธศตวรรษที่ ๒ อย่างพิศดารว่า ภิกษุลามกเหล่าวัชชีบุตร ถูกพระเถระขับออกจากหมู่แล้ว ได้พวกอื่นรวมกันเป็นฝ่ายอธรรมวาทีมีเป็นจำนวนมากประชุมกันทำสังคายนาพระธรรมวินัยเรียกว่า "มหาสังคีติ" ทำให้เกิดความขัดแย้งในพระศาสนา และกาลเวลาต่อมาคณะสงฆ์ทั้งสายเถรวาท และมหาสงัฆิกะ ก็แยกกันออกเป็นหลายนิกาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น