วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

พุทธศาสนาในประเทศไทยสมัยต่างๆ ๒

พุทธศาสนาในประเทศไทยสมัยต่างๆ ๒

พระพุทธศาสนาในสมัยกรุงศรีอยุธยาช่วงที่ ๑ – ๒
ช่วง พ.ศ. ๑๘๙๓ – ๒๐๓๑ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงโปรดให้สร้างวัดขึ้น ๒ วัด คือวัดพุไธสวรรค์และวัดใหญ่ชัยมงคล พระพุทธศาสนาได้รับการทำนุบำรุงอย่างมากในสมัยพระเจ้าบรมไตรโลกนาถ

พระพุทธศาสนาในสมัยกรุงศรีอยุธยาช่วงที่ ๓ – ๔
ช่วง พ.ศ. ๒๑๗๓ – ๒๒๗๕ รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การบวชเรียนได้รับความนิยมกันมากผู้บวชได้รับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์เป็นอย่างดี ในยุคนี้ศาสนาคริสต์แพร่เข้ามา สมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้เสรีในการนับถือศาสนา

พระพุทธศาสนาในสมัยกรุงธนบุรี
กรุงธนบุรี (๒๓๑๐ – ๒๓๒๕) เป็นเมืองหลวงได้ ๑๕ ปี สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทำนุบำรุงพระพุทธศษสนาอย่างมาก พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ๆ คือ จัดสังฆมณฑล ทรงบูรณะพระอารามต่าง ๆ รวบรวมศาสนาวัตถุ ตลอดถึงคัมภีร์พระพุทธศาสนาเพื่อทำสังคายนา

พระพุทธศาสนาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. ๒๓๒๕ – ๒๔๐๐) เป็นช่วงรัชกาลที่ ๑ – ๔ มีการสร้างและบูรณวัดวาอารามทั้งในราชวัง เมืองหลวง หัวเมืองทั่วราชอาณาจักร อุปถัมภ์พระสงฆ์ ทำสังคายนา ปรับปรุงระบบการศึกษาคณะสงฆ์ ฟื้นฟูประเพณีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาในช่วงปลายรัชกาลที่ ๓ เกิดคณะธรรมยุติกนิกาย

ช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. ๒๔๐๐ – ๒๕๐๐) เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๙ พระพุทธศาสนารุ่งเรืองกว่ารัชกาลก่อน ๆ มาก ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ใช้พระพุทธศาสนาเป็นเงื่อนไขสำคัญในการขยายโอกาศทางการศึกษาและปรับปรุงพุฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ในรัชกาลต่อ ๆ มาก็เอาพระทัยใส่กิจการพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดีทุก ๆ พระองค์

แนวโน้มพระพุทธศาสนาในอนาคต
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันศาสนาพุทธหยั่งรากลึกลงในกระแสชีวิตของคนไทยอย่างแนบแน่น คนไทยมีความสามรถในการปรับหลักการพุทธให้เหมาะสมกับชีวิต และในปัจจุบันพระสงฆ์ไทย ผู้นำจิตวิญญาณของชาวพุทธไทยยังมั่นคงในหลักพระธรรมวินัย มีความประพฤติดี ปฏิบัติเคร่งครัดด้วยเงื่อนไชหลายประการเหล่านี้ ทำให้เชื่อได้ว่า พระพุทธศาสนาในประเทศไทยยังจะมั่นคงสืบไป

พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่ยุคของพระเจ้าอโศกมหาราชมีหลายครั้งหลายคลื่น คลื่นสุดท้ายที่สืบมาจนถึงปัจจุบันเป็นพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ นับตั้งแต่สุโขทัยเป็นต้นมา พระพุทธศาสนาในประเทศไทยมีความเจริญรุ่งเรือง มั่นคง จนถึงปัจจุบัน ในปัจจุบันถือว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา และชาวพุทธไทยได้ปรับหลักการพุทธใช้ในวิถีชีวิตได้อย่างเหมาะสม และมีคุณค่า ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่า พระพุทธศาสนาในประเทศไทยจะยังเป็นศูนย์กลางที่มั่นคงสืบไป

พุทธศาสนาในประเทศไทยสมัยต่างๆ ๑

พุทธศาสนาในประเทศไทยสมัยต่างๆ ๑

ยุคเถรวาทแบบสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
ตั้งแต่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๓ ณ เมืองปาฏลีบุตร ได้ส่งพระเถระไปยังที่ต่าง ๆ ๙ สาย ส่งไปดินแดนสุวรรณภูมิพร้อมคณะ ประกอบด้วย พระโสณะ พระอุตตระ พระฌานิยะ พระมุนียะ และสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ร่วมคณะ ๓๘ รูป / คน

ยุคมหายาน
การทำสังคายนาครั้งที่ ๔ พระเจ้ากนิษกะมหาราชทรงอุปถัมภ์ฝ่ายมหายาน ได้ส่งพระสงฆ์ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเอเชียกลางและที่ต่าง ๆ พระเจ้ามิ่งตี่ทรงนำเอาพระพุทธศาสนาเข้ามายังจีนเชื่อมมาถึงกลุ่มคนไทยที่อยู่อาณาจักรอ้ายลาว ในตอนใต้ของไทย ช่วง พ.ศ. ๑๕๕๐ กษัตริย์แห่งกัมพูชาในราชวงศ์สุริยวรมันเรืองอำนาจ ได้มาตั้งเมืองละโว้หรือลพบุรีเป็นเมืองหลวง มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามหายาน สมัยนั้นพระพุทธศาสนามหายานกับพราหมณ์ได้ผสมผสานกันแทบจะแยกไม่ออก

ยุคเถรวาทแบบพุกาม
กษัตริย์แห่งพุกาม คือพระเจ้าอนุรุธมหาราช ทรงเลื่อมใสพระพุทธศาสนามหายาน ทรงทำนุบำรุงเผยแผ่พระศาสนาด้วยพระราชศรัทธา เรียกพระพุทธศาสนาในยุคนี้ว่า “เถรวาทแบบพุกาม”

ยุคเถรวาทแบบลังกาวงศ์
พ่อขุนรามคำแหงขยายขอบเขตไปถึงอาณาจักรตามพรลิง (นตรศรีธรรมราช) ได้นำเอาพระพุทธศาสนาแบบลังกานี้ขึ้นมายังกรุงสุโขทัย พระพุทธสาสนาแบบลังกาวงศ์รุ่งเรืองแต่บัดนั้นมา

พระพุทธศาสนาในสมัยสุโขทัย
ก่อนการสถาปนากรุงสุโขทัยนั้น ภูมิภาคนี้มีศาสนาต่าง ๆ หลายลัทธินิกายทั้งศาสนาชาวพื้นเมืองเดิม ศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธมหายาน และศาสนาพุทธหินยาน ที่สืบสมัยทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๖) และลพบุรี (พุทธศตวรรรษที่ ๑๖ – ๑๘)

สมัยพ่อขุนรามคำแหงกษัตริย์องค์ที่ ๓ ได้อาราธนาพระสงฆ์ชาวลังกาที่อาศัยอยู่อาณาจักรตามพรลิงค์ขึ้นไปตั้งวงศ์ที่กรุงสุโขทัย สมัยพระเจ้าลิไท พระพุทธศาสนาในอาณาจักรสุโขทัยรุ่งเรืองขีดสุด คณะสงฆ์แบ่งเป็น ๒ คณะ ได้แก่ คณะคามวาสีและคณะอรัญวาสี พระพุทธศาสนาเป็นปัจจัยหลักให้เกิดความเจริญและพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ด้านศิลปะ ด้านพุทธศิลป์ ด้านวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ

พระพุทธศาสนาในสมัยล้านนา
พระพุทธศาสนาสมัยพระเจ้ามังรายเป็นเช่นเดียวกับอาณาจักรสุโขทัยช่วงต้นคือมีหลากหลายลัทธินิกาย สมัยพระเจ้ากือนา(ตื้อนา) รับเอาพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทมาจากสุโขทัย รุ่งเรืองอย่างมาก ในยุคพระเจ้าติโลกราชมีการทำสังคายนาขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ปรากฎพระสงฆ์ที่เป็นปราชญ์มีชื่อเสียงสร้างสรรค์วรรณคดีพระพุทธศาสนาสมัยล้านนาหลายรูป เช่น พระสิริมังคราจารย์ พระรัตนปัญญา เป็นต้น

พุทธศาสนาในเอเชีย (เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

พุทธศาสนาในเอเชีย
(เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

ประวัติพระพุทธศาสนาในศรีลังกา
พุทธศาสนาเริ่มเข้าสู่ศรีลังกาครั้งแรก เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๖ โดยการนำของพระมหินทเถระ ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ พุทธศาสนาในศรีลังกาแบ่งออกเป็น ๓ สมัยใหญ่ ได้แก่สมัยก่อนอนุราธปุระ สมัยอนุราธปุระ และสมัยโปโรนรุวะ บางสมัยมีความเจริญรุ่งเรืองสุดขีด แต่บางยุคสมัยก็มีความเสื่อมโทรม จนไม่มีพระสงฆ์เหลืออยู่เลย ต้องไปนำพุทธศาสนามาจากประเทศอื่น ดังเช่น ในปี พ.ศ. ๒๒๐๙ รัชสมัยพระเจ้ากิตติราชสิงห์ ได้นำคณะสงฆ์จากประเทศไทย และประเทศพม่า ไปสืบอายุพุทธศาสนายังลังกา เป็นต้น

ประวัติพระพุทธศาสนาในพม่า
พุทธศาสนาเข้าสู่พม่าครั้งแรก ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ได้ส่งสมณะทูตมาประกาศพุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ ได้แก่ ดินแดนแถบเอเซียอาคเนย์ในปัจจุบัน
ในพุทธศตวรรษที่ ๒๔ พม่าได้มีการทำสังคายนาขึ้น ตลอดประวัติพัฒนาการของพระพุทธศาสนาในประเทศพม่า มีนักปราชญ์ทางด้านพุทธศาสนาเกิดขึ้นมากมาย

ประวัติพระพุทธศาสนาในกัมพูชา
พุทธศาสนาในกัมพูชาตั้งแต่ยุคฟูนัน ซึ่งก่อนนั้นศาสนาพราหมณ์มีความรุ่งเรืองอยู่ก่อน มีบันทึกว่า ในปีพุทธศักราช ๑๐๒๗ ประเทศนครพนม(ฟูนัน) นับถือศาสนาพราหมณ์ เคารพพระอิศวร แต่พุทธศาสนาก็เจริญ มีพระสงฆ์สามเณรมาก จนถึงยุคเจนละ ราว พ.ศ. ๑๒๐๗
ยุคมหานคร พุทธศาสนามหายาน ได้เจริญรุ่งเรืองคู่เคียงกับศาสนาพราหมณ์ สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ราว พ.ศ. ๑๕๔๔ ศาสนาพุทธมหายานและเถรวาทได้รับการอุปถัมภ์ให้เกิดความรุ่งเรืองอย่างมาก

ประวัติพระพุทธศาสนาในลาว
ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ประเทศลาวได้รับพุทธศาสนาเถรวาท ผ่านทางราชอาณาจักรขอม ในสมัยพระเจ้าฟ้างุ่มแหล่งหล้าธรณี ต่อมาสมัยพญาสามไทได้ทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองเป็นอย่างมาก

เมื่อประเทศลาวเริ่มเข้าสู่ยุคใหม่ เป็นยุคแห่งความแตกแยก มีความขัดแย้งทางความคิด เกิดการสู้รบทางการเมืองเป็นอย่างมาก ประเทศมีแต่ความวุ่นวายรบราฆ่าฟันกัน และประเทศชาติตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส พุทธศาสนาถูกริดรอนอย่างหนักเมื่อได้รับเอกราชแล้วเกิดการต่อสู้กันเอง ได้เปลี่ยนระบบการปกครองมาเป็น ระบอบสาธารณรัฐแบบสังคมนิยม ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาพุทธ พุทธศาสนาถูกทำลาย พระภิกษุสามเณรถูกจับสึก หรือหนีออกนอกประเทศ พุทธศาสนาเสื่อมโทรมลง

ประวัติพุทธศาสนาในเวียดนาม
พุทธศาสนาเข้าสู่เวียดนามเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๘ โดยภิกษุชาวจีน พ.ศ. ๑๐๗๘ – ๑๑๔๕ พุทธศาสนาเจริญขึ้น และเป็นที่แพร่หลายกว้างขวางโดย พระวินีรุจิ ยุคนี้อาณาจักรจามปามีผลงานด้านศิลปะ และสถาปัตยกรรมเกิดขึ้นมาก

ในช่วงเวียดนามตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส และต่อด้วยรัฐบาลสมัยโงดินเดียมห์ พุทธศาสนาได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
ในยุคลัทธิทางการเมืองแบบคอมมิวนิสต์เข้าครอบงำอินโดจีน พุทธศาสนิกชนชาวเวียดนาม ได้รับเคราะห์กรรมมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันพุทธศาสนาอยู่ในช่วงของการฟื้นฟู

พระพุทธศาสนาในเอเชียใต้ในที่นี้คือประเทศศรีลังกา ถือว่าเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาเถรวาทในยุคต้น ๆ ในอดีตมีความเจริญมั่นคงมาก จนเป็นศูนย์กลางการศึกษาและการเผยแผ่ลงมาทางเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมาก็มีการเสื่อมลงบ้างจนถึงขาดพระภิกษุสงฆ์ ต้องมาของจากประเทศไทยกลับไปฟื้นฟู เช่น ในสมัยอยุธยาที่ได้ไปตั้งนิกายสยามวงศ์และเจริญสืบมาจนถึงปัจจุบัน
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักของประชาชนในภูมิภาคนี้จึงมีอิทธิพลต่อประเทศในเอเซียใต้และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในทุกด้านและจะเจริญรุ่งเรืองต่อไปอีกนาน

พระพุทธศาสนาในยุโรป - อเมริกา

พระพุทธศาสนาในยุโรป - อเมริกา

๑.ประวัติพระพุทธศาสนาในยุโรป
จากหลักฐานเอกสาร ยุโรปได้รับเอาพระพุทธศาสนาจากทวีปเอเชียมานานแล้วแต่ขาดช่วงไป เมื่อโลกเข้าสู่ยุคใหม่ พุทธศาสนาขยายตัวเข้าสู่ยุโรป เริ่มตั้งแต่หลังยุคการล่าอาณานิคม เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๓ โดยความสนใจของกลุ่มปัญญาชนชาวยุโรป ที่ได้ศึกษาหลักธรรมทางพุทธศาสนา แล้วศรัทธาในความลึกซึ้งแห่งพุทธธรรมจากนั้น จึงมีการติดต่อประสานสัมพันธ์ กับพุทธศาสนานิกายต่าง ๆ ในเอเชีย สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

๒.สภาพการณ์ปัจจุบันของพระพุทธศาสนาในยุโรป
ปัจจุบัน ศาสนาพุทธได้กระจายทั่วภาคพื้นทวีปยุโรปเกือบทั่วทุกประเทศบางประเทศก็มีวัดทางพุทธศาสนาหลายวัดหลายนิกาย และมีแนวโน้มมั่นคงเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะที่ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน
ด้วยความละเอียดลึกซึ้งแห่งพุทธธรรม ทำให้ชาวยุโรปซึ่งมีอุปนิสัยแสวงหาปัญญาอยู่แล้ว หันมาสนใจปรัชญาพุทธมากขึ้น พุทธแพร่หลายในยุโรปอย่างรวดเร็ว

๓.อิทธิพลของพระพุทธศาสนาในยุโรป
พุทธศาสนามีอิทธิพลต่อชาวยุโรป ในลักษณะที่เป็น แนวคิด หลักปรัชญาในการดำเนินชีวิต หลักปฏิบัติขัดเกลา การศึกษา สังคม และ วัฒนธรรม ที่ยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะกลุ่มชาวพุทธ ยังไม่ถึงกับเป็นบรรทัดฐานของระบบชีวิต หรือเข้าไปมีอิทธิพลต่อต้านการเมืองของชาวยุโรป แต่สำหรับกลุ่มชาวพุทธที่อพยพเข้าไปอยู่ในยุโรป พุทธศาสนายังเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นวิถีชีวิต เป็นที่สังเกตุว่า ชาวยุโรปสนใจในวิธีการศึกษาแนวพุทธมาก โดยเฉพาะด้านวิปัสสนากรรมฐาน

๔.แนวโน้มในอนาคตของพระพุทธศาสนาในยุโรป
พุทธศาสนาเป็นสิ่งใหม่ต่อสังคมยุโรป แต่ได้รับการตอบรับเชิงบวก มีเงื่อนไขหลายประการที่สะท้อนอนาคตพุทธศาสนาในยุโรป คือ
ประการที่ ๑ องค์การสหประชาชาติ ให้การยอมรับและสนับสนุนศาสนาพุทธ โดยถือว่า "วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลสหประชาชาติ"
ประการที่ ๒ การประชุมร่วมมือกันของชาวพุทธทั่วโลก สร้างความสามัคคีช่วยเหลือกันและกัน
ประการที่ ๓ โลกยุคโลกาภิวัฒน์ จะเป็นสื่อนำกระบวนทรรศน์แบบพุทธ วิถีพุทธที่มีความโดดเด่นในด้านสันติภาพ ภราดรภาพ มิตรภาพ ให้กระจายออกไปอย่างไร้ขอบเขต

พระพุทธศาสนาในทวีปอเมริกา

๑.ประวัติพระพุทธศาสนาในอเมริกา
การเคลื่อนตัวของศาสนาสู่อเมริกาเกิดขึ้นหลังทวีปยุโรปเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๔
ลักษณะการเกิดขึ้นของศาสนาพุทธในอเมริกา เริ่มต้นที่สถาบันทางการศึกษาโดยความสนใจของกลุ่มปัญญาชนชาวสหรัฐ องค์กรชาวพุทธทั้งที่เป็นพระภิกษุและฆราวาส ได้เดินทางเข้าไปเผยแผ่พุทธธรรมยังสหรัฐอเมริกา

๒.สภาพการณ์ปัจจุบันของพระพุทธศาสนาในอเมริกา
ศาสนาพุทธที่เข้าไปเผยแผ่ในอเมริกา มีทั้งเถรวาทและมหายาน พระสงฆ์ชาวอเมริกาให้ทัศนะว่า "พุทธศาสนาเป็นทางเลือกใหม่ ความสัมพันธ์ของพระพุทธศาสนากับชาวอเมริกา เป็นความสัมพันธ์ช่วงต้น รูปแบบของพุทธศาสนาสายมหายานเข้าถึงง่ายกว่า ใกล้ชิดกว่า เสรีกว่า ส่วนพุทธศาสนาแบบเถรวาทเข้าถึงยาก แต่มีรายละเอียดลึกซึ้งมากกว่า"
การเผยแผ่พุทธศาสนาในอเมริกา มีหลายรูปแบบเช่นเดียวกับยุโรป เช่น ความสนใจของชาวสหรัฐเอง แสวงหาประสบการณ์ทางศาสนาตะวันออก เกิดมีองค์กรชาวพุทธทำงานด้านศาสนา

๓.อิทธิพลของพระพุทธศาสนาในอเมริกา
พุทธศาสนาตอบสนองความต้องการชาวตะวันตกได้ เพราะมีหลักปฏิบัติที่อยู่บนพื้นฐานของเหตุผล และพิสูจน์ให้เห็นผลได้ตามหลักธรรมชาติ พุทธธรรมเน้นหลักความสงบสุขทางจิต ลดความรุนแรงของวัตถุนิยม ทำให้ชีวิตเรียบง่ายและทำให้ลดปัญหาทางสังคมลง สังคมชาวพุทธนั้นเป็นสังคมแห่งผู้มีเมตตาธรรม มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีอุปการะ

๔.แนวโน้มในอนาคตของพระพุทธศาสนาในอเมริกา
พัฒนาการของศาสนาพุทธในดินแดนอเมริกา พบว่าชาวอเมริกาสนใจในหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนา ก็เนื่องจากความละเอียดลึกซึ้งของหลักธรรมนั่นเอง

มหาวิทยาลัยในพระพุทธศาสนา

มหาวิทยาลัยในพระพุทธศาสนา

นาลันทา
นาลันทา เป็นชื่อเมือง ๆ หนึ่งในแคว้นมคธ อยู่ห่างจากพระนครราชคฤห์ประมาณ ๑ โยชน์ (ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร) ณ เมืองนี้มีสวนมะม่วง ชื่อ ปาวาริกัมพวัน (สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี) ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับแรมหลายครั้งคัมภีร์ฝ่ายมหายานกล่าวว่า พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นอัครสาวก เกิดที่เมืองนาลันทา แต่คัมภีร์ฝ่ายบาลีเรียกถิ่นเกิดของ พระสารีบุตรว่า หมู่บ้านนาลกะหรือนาลันทคาม

ภายหลังพุทธกาล ชื่อเมืองนาลันทาเงียบหายไประยะหนึ่ง หลวงจีนฟาเหียนซึ่งจาริกมาสืบศาสนาในชมพูทวีป ราว พ.ศ. ๙๔๔-๙๕๓ บันทึกไว้ว่าได้พบเพียงสถูปองค์หนึ่งที่นาลันทา แต่ต่อมาไม่นาน กษัตริย์ราชวงศ์คุปตะพระองค์หนึ่งพระนามว่าศักราทิตย์ หรือกุมารคุปตะที่ ๑ ซึ่งครองราชย์ประมาณ พ.ศ. ๙๕๘-๙๙๘ ได้ทรงสร้างวัดอันเป็นสถานศึกษาขึ้นแห่งหนึ่งที่เมืองนาลันทา

และกษัตริย์พระองค์ ต่อๆ มาในราชวงศ์นี้ก็ได้สร้างวัดอื่นๆ เพิ่มขึ้นในโอกาสต่างๆ จนมีถึง ๖ วัด อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ในที่สุดได้มีการสร้างกำแพงใหญ่อันเดียวล้อมรอบ ทำให้วัดทั้ง ๖ รวมเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว เรียกว่า นาลันทามหาวิหาร และได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ แห่งสำคัญยิ่ง ที่นักประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบัน เรียกกันทั่วไปว่า “มหาวิทยาลัยนาลันทา”

แต่ที่เด่นชัดก็คือนาลันทาเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และเพราะความที่มีกิตติศัพท์เลื่องลือมาก จึงมีมีนักศึกษาเดินทางมาจากต่างประเทศหลายแห่ง เช่น จีน ญี่ปุ่น เอเซียกลาง สุมาตรา ชวา ทิเบต และมองโกเลีย เป็นต้น หอสมุดของนาลันทาใหญ่โตมากและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เมื่อคราวที่ถูกเผาทำลายในสมัยต่อมา มีบันทึกกล่าวว่าหอสมุดนี้ไหม้อยู่เป็นเวลาหลายเดือน

ในประมาณ พ.ศ. ๑๗๔๒ กองทัพมุสลิมเติรกส์ได้ยกมารุกรานรบชนะกษัตริย์แห่งชมพูทวีปฝ่ายเหนือ และเข้าครอบครองดินแดนโดยลำดับ กองทัพมุสลิมเติรกส์ได้เผาผลาญทำลายวัดและปูชนียสถานในพุทธศาสนาลงแทบทั้งหมด และสังหารผู้ที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนา นาลันทามหาวิหารก็ถูกเผาผลาญทำลายลงในช่วงระยะเวลานั้นด้วย มีบันทึกของนักประวัติศาสตร์ชาวมุสลิมเล่าว่า ที่นาลันทา พระภิกษุถูกสังหารแทบหมดสิ้น และมหาวิทยาลัยนาลันทาก็ก้าวถึงความพินาศสูญสิ้นลงแต่บัดนั้นมา

พุทธศาสนามหายาน

พุทธศาสนามหายาน

กำเนิดและพัฒนาการของพระพุทธศาสนามหายาน
เริ่มต้นพุทธศตวรรษที่ ๖ พระพุทธศาสนาในประเทศอินเดียเริ่มมีพัฒนาการแตกต่างไปจากเดิมเรียกว่าเป็นพุทธศาสนาแนวใหม่ คือ มหายาน การเกิดขึ้นของมหายาน เริ่มต้นจาก ๒ จุดใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ
แห่งที่ ๑ บริเวณภาคใต้ของอินเดีย ได้แก่ แคว้นอันธระ ตรงนี้ให้กำเนิดพระพุทธศาสนามหายานประเภทปัญญาธิกะ
แห่งที่ ๒ บริเวณภาคเหนือของอินเดียที่แคว้นคันธาระ และกาศมีระ พระพุทธศาสนาจุดนี้ให้กำเนิดพระพุทธศาสนามหายานประเภทศรัทธาธิกะ มีประเพณีบูชาขอพึ่งบารมีพระโพธิสัตว์ เป็นพระพุทธศาสนามหายานนิกายโยคาจารย์

สาเหตุให้เกิดพระพุทธศาสนามหายาน
เกิดจากความวิบัติแห่งทิฏฐิสามัญญตา
เกิดจากความวิบัติแห่งศีลสามัญญตา
เกิดจากพระบุคลิกภาพของพระพุทธเจ้า
เกิดจากแรงกดดันของศาสนาพราหมณ์
มหายานเกิดขึ้นจากพุทธบริษัทคฤหัสถ์

ความแตกต่างระหว่างพุทธศาสนาเถรวาทและมหายาน
เถรวาท ถือว่าความเป็นพระอรหันต์เป็นสิ่งสูงสุดเป็นอุดมคติและจุดมุ่งหมายในการประพฤติความดีต่าง ๆ
มหายาน ถือว่าการเข้าถึงภาวะแห่งโพธิสัตว์เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นนั้นสูงกว่าพระอรหันต์
เถรวาท เน้นให้พุทธศาสนิกชนพึ่งตนเอง ถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น
มหายาน ถือว่าชาวโลกมีภาระยุ่งเกินไป ไม่มีเวลาพอที่จะขวนขวายเพื่อความหลุดพ้นของตนได้ จึงต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น ดังนั้น ทรรศนะทางมหายานจึงมีพระมหากรุณาของพระพุทธเจ้านั้นสามารถช่วยให้ผู้อื่นหลุดพ้นได้ด้วย

พระเจ้ากนิษกะมหาราชกับพระพุทธศาสนา
พระเจ้ากนิษกะมหาราชทรงมีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนานิกายมหายานเหมือนกับพระเจ้าอโศกมหาราชที่มีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาเถรวาท พระองค์เป็นผู้อุปถัมภ์ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๔ ของนิกายมหายาน ส่งเสริมการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยให้พระสงฆ์เข้าศึกษาใน "นาลันทามหาวิหาร" ต่อมาเป็นมหาวิทยาลัยนาลันทา เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก
ในยุคนี้เกิดมหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนาขึ้นหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยนาลันทา โสมปุระ ชาคัทระ วรภี วิกรมศิลา เป็นต้น

การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ของพระเจ้าอโศกมหาราช

การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ของพระเจ้าอโศกมหาราช

๑. พระเจ้าอโศกมหาราชกับพระพุทธศาสนา
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เช่น สร้างวัด วิหาร พระสถูป พระเจดีย์ หลักศิลาจารึก เป็นต้น

๒. สาเหตุที่ทำให้เกิดการสังคายนาครั้งที่ ๓
อลัชชีเข้ามาปลอมบวชเพื่อหวังลาภสักการะ แต่ยังสอนลัทธิเก่าของตนว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า พระที่บริสุทธิ์ไม่ยอมร่วมทำอุโบสถสังฆกรรม พระเจ้าอโศกให้อำมาตย์คนหนึ่งไประงับอธิกรณ์ ณ อโศการาม เมื่อภิกษุขัดขืนถูกอำมาตย์ประหารชีวิต เหตุการณ์นี้ทำให้พระเจ้าอโศกไม่สบายพระทัย พระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระวิสัชชนาว่า “ถ้าพระองค์ไม่มีเจตนาที่จะฆ่า ความผิดนั้นก็ไม่ตกถึงพระองค์”

๓. เหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับการสังคายนาครั้งที่ ๓
ในการสังคายนาภิกษุเข้าร่วมจำนวน ๓,๐๐๐ รูป ทำเหมือนกับการปฐมสังคายนา (ครั้งที่ ๑)
มีพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระเป็นผู้ถาม
พระมัชฌันติกเถระและพระมหาเทวเถระเป็นผู้วิสัชชนา

๔. ผลของการสังคายนาครั้งที่ ๓
การสังคายนาครั้งนี้ หลังพุทธปรินิพพาน ๒๓๔ ปี ใช้เวลา ๙ เดือนจึงสำเร็จ การทำสังคายนาครั้งนี้เกิดผลดีแก่พระพุทธศาสนาเถรวาทเป็นอย่างมาก หลังจากการทำสังคายนาเสร็จแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งสมณะทูตไปประกาศศาสนาในที่ต่างๆ ๙ สาย

สายที่ ๑ พระมัชฌันติกเถระ ไปแคว้นกัศมีร์และคันธาระ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งได้แก่แคว้นแคชเมียร์ในปัจจุบัน
สายที่ ๒ พระมหาเทวะเถระ ไปมหิสมณฑล ทางทิศใต้ของแม่น้ำโคธาวรี
สายที่ ๓ พระรักขิตเถระ ไปวนวาสีประเทศ อยู่ในเขตกนราเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย
สายที่ ๔ พระธรรมรักขิตเถระ ไปปรันตชนบทอยู่ริมฝั่งทะเลอารเบียน ทิศเหนือของบอมเบย์
สายที่ ๕ พระมหาธรรมรักขิตเถระ แคว้นมหาราษฏร์ ภาคตะวันตกอยู่ห่างจากบอมเบย์ในปัจจุบัน
สายที่ ๖ พระมหารักขิตเถระ ไปโยนกประเทศ ในทวีปเอเชียตอนกลาง เหนือประเทศอิหร่านไปถึงเตอกีสถาน
สายที่ ๗ พระมัชฌิมเถระ ไปหิมวันตประเทศ ได้แก่ เนปาล ซึ่งอยู่ตอนเหนือของอินเดีย
สายที่ ๘ พระโสนะเถระ และพระอุตระเถระ ไปสุวรรณภูมิประเทศ ได้แก่ พม่า ไทย และมอญ
สายที่ ๙ พระมหินทเถระ ไปเกาะสิงหล หรือประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน

๕. สรุปการสังคายนาครั้งที่ ๓
การทำสังคายนาครั้งที่ ๓ หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๒๓๔ ปี ทำที่ อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธานสงฆ์ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงถวายความอุปถัมภ์ พระโมคัลลีบุตรติสสเถระได้รจนากถาวัตถุ ๑๐ ประการขึ้นครั้งแรก พระโมคคัลลีบุตร เป็นผู้ถาม พระมัชฌันติกเถระ กับพระมหาเทวเถระเป็นผู้วิสัชชนา ทำอยู่ ๙ เดือน และมีการส่งสมณะทูตเผยแผ่ พระพุทธศาสนาไปยังดินแดนต่างๆ ๙ สาย